สนามเเข่งขัน
สนามแข่งขันเซปักตะกร้อ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 เท่าของสนามแบดมินตัน มีความยาว 13.4 เมตร กว้าง 6.1 เมตร เพดานหรือสิ่งกีดขวางอื่นใด ต้องอยู่สูงกว่าสนามไม่น้อยกว่า 8 เมตร จากพื้นสนาม (ไม่เป็นพื้นหญ้า หรือพื้นทราย) และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางอื่นใดในระยะ 3 เมตรจากขอบสนามโดยรอบ
ความกว้างของเส้นขอบทั้งหมดวัดจากด้านนอกเข้ามาไม่เกิน 4 เซนติเมตร ส่วนเส้นแบ่งแดนความกว้างไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยลากเส้นแบ่งแดนทั้ง 2 ข้างออกตามแนวขวาง แนวเส้นทับพื้นที่ของแต่ละแดนเท่าๆกัน เส้นขอบทั้งหมดนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแดนสำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย
ปลายของเส้นแบ่งแดน ใช้เป็นจุดศูนย์กลางลากเส้นโค้งวงกลมความกว้างเส้น 4 เซนติเมตร โดยขอบในของเส้นดังกล่าวมีรัศมี 90 เซนติเมตร กำหนดไว้เป็นตำแหน่งยืนของผู้เล่นหน้าซ้าย และหน้าขวา ในขณะที่ส่งลูก
ในแดนทั้งสอง มีวงกลมซึ่งกำหนดเป็นจุดยืนสำหรับผู้ส่งลูก โดยเส้นที่วาดวงกลมขอบในมีรัศมี 30 เซนติเมตร ความกว้างของเส้นคือ 4 เซนติเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ทีระยะ 2.45 เมตร จากเส้นหลังของแต่ละแดน และอยู่กึ่งกลางตามแนวกว้างของสนาม
ตาข่าย
ตาข่ายจะถูกขึงกั้นแบ่งแดนทั้งสองออกจากกัน ทำจากวัสดุจำพวกเชือกหรือไนลอน ความสูงของตาข่ายบริเวณกึ่งกลาง คือ 1.52 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.42 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง) ส่วนความสูงบริเวณเสายึดตาข่าย คือ 1.55 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.45 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง)
ตาข่ายมีขนาดรู 6 - 8 เซนติเมตร ผืนตาข่ายมีความกว้าง 70 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6.1 เมตร
ลักษณะการเล่นรูปเเบบอื่น
การเล่นตะกร้อยังสามารถเล่นได้หลายแบบ ดังนี้
- การเล่นเป็นทีม ผู้เล่นจะล้อมเป็นวง ผู้เริ่มต้นจะใช้เท้าเตะลูกตะกร้อไปให้อีกผู้หนึ่งรับ ผู้รับจะต้องมีความว่องไวในการใช้เท้ารับและเตะส่งไปยังอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกวิธีเล่นนี้ว่า "เตะตะกร้อ" ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อที่จะเตะไปยังผู้ใด ถ้าผู้เตะทั้งวงมีความสามารถเสมอกัน จะโยนและรับไม่ให้ตะกร้อถึงพื้นได้เป็นเวลานานมาก กล่าวกันว่าทั้งวันหรือทั้งคืนก็ยังมี แต่ผู้เล่นยังไม่ชำนาญก็โยนรับได้ไม่กี่ครั้ง ลูกตะกร้อก็ตกถึงพื้น
การติดตะกร้อ (เล่นเดี่ยว) การเล่นตะกร้อที่มีชื่อเสียงมากของไทยคือ การติดตะกร้อ เป็นศิลปะการเล่นตะกร้อ คือ เตะตะกร้อให้ไปติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องถ่วงน้ำหนักให้อยู่นาน แล้วใช้อวัยวะส่วนนั้นส่งไปยังส่วนอื่น โดยไม่ให้ตกถึงพื้น เช่น การติดตะกร้อที่หลังมือ ข้อศอก หน้าผาก จมูก เป็นต้น นับว่าเป็นศิลปที่น่าชม ผู้เล่นต้องฝึกฝนอย่างมาก
ตะกร้อติดบ่วง การเตะตะกร้อติดบ่วง ใช้บ่วงกลมๆแขวนไว้ให้สูงสุด แต่ผู้เล่นจะสามารถเตะให้ลอดบ่วงไปยังผู้อื่นได้ กล่าวกันว่าบ่วงที่เล่นเคยสูงสุดถึง 7 เมตร และยิ่งเข้าบ่วงจำนวนมากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความสามารถ
ท่าเตะตะกร้อมีหลายท่าที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามและความว่องไว ตามปกติจะใช้หลังเท้า แต่นักเล่นตะกร้อจะมีวิธีเตะที่พลิกแพลง ใช้หน้าเท้า เข่า ไขว้ขา (เรียกว่าลูกไขว้) ไขว้ขาหน้า ไขว้ขาหลัง ศอก ข้อสำคัญ คือ ความเหนียวแน่นที่ต้องรับลูกให้ได้เป็นอย่างดีเมื่อลูกมาถึงตัว ผู้เล่นมักฝึกการเตะตะกร้อด้วยท่าต่าง ๆ ลีลาในการเตะตะกร้อมี 4 แบบ คือ การเตะเหนียวแน่น (การรับให้ได้อย่างดี) การเตะแม่นคู่ (การโต้ตรงคู่) การเตะดูงามตา (ท่าเตะสวย มีสง่า) การเตะท่ามาก (เตะได้หลายท่า)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น